จุมภฏ - พันธุ์ทิพย์ อุทยาน หรือ "วังตะไคร้" เกิดขึ้นด้วยปณิธานการเป็นผู้ให้ของ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร "จุมภฏ - พันธุ์ทิพย์ อุทยาน" มาจากชื่อเจ้าของเดิมคือ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต หรือ เสด็จในกรม (พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5) และชายา คือ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร
สำหรับชื่อ "วังตะไคร้" นั้นเป็นชื่อเดิมที่ชาวบ้านแถบนั้นเรียกกันมาเนื่องจากลำห้วยบริเวณนั้นเป็นวังน้ำกว้างมีต้นตะไคร้หางนาคหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ต้นตะไคร้น้ำ" ขึ้นเต็มริมฝั่งห้วย ทั้งสองพระองค์ทรงโปรดปรานธรรมชาติและการท่องเที่ยวตามขุนเขาลำเนาไพร เมื่อได้มาพบวังตะไคร้จึงขอซื้อที่ดินและปลูกตำหนักเพื่อเป็นที่ประทับพักผ่อนส่วนพระองค์และญาติมิตร เสด็จในกรม คือผู้เป็นแรงบันดาลใจของ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ในการสร้างสรรค์และบุกเบิกวังตะไคร้ เพราะทรงทราบดีว่าวังตะไคร้เป็นสถานที่ที่ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร สร้างขึ้นจากความฝันที่มีมาแต่วัยเยาว์ และด้วย
ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ ต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นอนุสรณ์แด่เสด็จในกรม จึงได้ทุ่มเทเวลากว่า 10 ปี ดำเนินงานอย่างหนักในการวางแผนจัดสถานที่และปรับสภาพพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยต้นอ้อและหญ้าคาจนกลายมาเป็นสนามหญ้าเขียวชอุ่ม รวมถึงได้นำพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาปลูกในวังตะไคร้โดยหวังให้เป็นสถานที่ให้ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์
ด้วยความที่ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ต้องการให้บุคคลอื่นๆ ได้เห็นความงดงามของวังตะไคร้เช่นเดียวกับท่าน
จึงให้เปิดวังตะไคร้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 บ้านพักบางหลัง อาทิ บ้านธารทิพย์ บ้านแก่ง บ้านเกาะ บ้านใหญ่ ฯลฯ มีรูปแบบใกล้เคียงกับตำหนักของท่านในที่อื่นๆ ซึ่งมีความเรียบง่ายแต่แฝงด้วยเสน่ห์ของความเป็นบ้านไทยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างประเภทไม้และหินน้ำตกซึ่งเข้ากับสถานที่ตั้งได้เป็นอย่างดี มีหน้าต่างรอบบ้านทำให้อากาศ ภายในบ้านเย็นสบาย การจัดให้มีระเบียงกว้างเพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้เพื่อการพักผ่อนอย่างเต็มที่
"ในที่สุดข้าพเจ้าหวังว่า สถานที่วังตะไคร้ซึ่งเสด็จในกรม และข้าพเจ้าฝังจิตใจไว้
จะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจอันถาวรสร้างความสดชื่นสนุกสนานรื่นเริง
พร้อมทั้งความรู้ทางพฤกษศาสตร์แก่ทุกท่านตลอดไปชั่วกาลนาน"
ข้อความโดย ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร จากหนังสือ "วังตะไคร้" |